การรักษารากฟันเป็นการรักษาทางทันตกรรม ที่ช่วยกำจัดภาวะการติดเชื้อในโพรงประสาทฟัน ซึ่งเป็นทางเลือกในการเก็บรักษาฟันไว้ แทนการถอนฟัน
- ฟันผุลุกลามในชั้นโพรงประสาทฟัน เพื่อป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคเข้าสู่กระดูกขากรรไกร
- อาการปวดฟันจากภาวะเส้นประสาทฟันอักเสบชนิดผันกลับไม่ได้ (irreversible pulpitis)
- ภาวะฟันตาย
- การเตรียมคลองรากฟัน เพื่อใช้เป็นส่วนยึดของเดือยฟันและครอบฟัน ในกรณีที่เนื้อฟันเหลือน้อยมาก
ก่อนการรักษารากฟัน จำเป็นต้องผ่านการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะในกรณีภาวะเส้นประสาทฟันอักเสบชนิดผันกลับได้ (reversible pulpitis) ซึ่งจะมีอาการเสียวฟันหรืออาการปวดเพียงชั่วคราวในระยะหนึ่งและหายเองได้ ในบางรายก็อาจจะมีอาการรุนแรงใกล้เคียงกับภาวะเส้นประสาทฟันอักเสบชนิดผันกลับไม่ได้(irreversible pulpitis) ดังนั้น ก่อนการพิจารณาให้การรักษารากฟัน จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างรอบคอบ ดังนี้
- การซักประวัติอาการ
- การวินิจฉัยด้วยภาพถ่ายรังสีในช่องปาก
- การวินิจฉัยด้วยเครื่องวัดความมีชีวิตของฟัน
- การวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นๆ เช่น bite test, cold test, hot test
- การติดตามอาการเป็นระยะ
- การกำจัดเนื้อฟันที่ผุหรือติดเชื้อออก
- การทำความสะอาดคลองรากฟัน และใส่ยาฆ่าเชื้อในคลองรากฟัน บางกรณีอาจใช้เวลาทำมากกว่า 1 ครั้ง เพื่อกำจัดภาวะการติดเชื้อในคลองรากฟันอย่างสมบูรณ์
- การอุดปิดคลองรากฟัน
- การบูรณะเนื้อฟันที่สูญเสียไปด้วยวัสดุอุด หรือเดือยฟันและครอบฟัน
วัตถุประสงค์หลักของการรักษารากฟัน คือ การกำจัดเชื้อโรคในโพรงประสาทฟันและคลองรากฟันออกไปได้ทั้งหมดทุกคลองรากฟัน รวมไปถึงการอุดปิดคลองรากฟันได้อย่างแนบสนิท เพื่อป้องกันภาวะการติดเชื้อซ้ำ ดังนั้น นอกเหนือจากการดูแลรักษาโดยทันตแพทย์ที่เชี่ยวชาญแล้ว การเลือกสรรอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงและมีมาตรฐานการทำให้ปลอดเชื้อของเครื่องมือ ล้วนเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้การรักษารากฟันสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และมีผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น
หลังการรักษารากฟัน ภายใน 1-3 วันแรก อาจมีอาการปวดเกิดขึ้นได้ อันเนื่องมาจากภาวะการติดเชื้อและการอักเสบก่อนการรักษา ซึ่งสามารถบรรเทาอาการได้โดยรับประทานยาแก้ปวด 1-3 วันและอาการดังกล่าวจะหายไปในเวลาไม่นาน
ในช่วงเวลาที่ได้รับการรักษารากฟัน ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแข็ง เนื่องจากฟันที่ได้รับการรักษารากฟัน มักมีเนื้อฟันเหลือน้อย การกัดเคี้ยวอาหารแข็ง อาจทำให้ฟันแตกหักหรือวัสดุอุดชั่วคราวหลุดออกได้ และควรพบทันตแพทย์ตามที่นัดหมาย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคในคลองรากฟัน
เมื่อเสร็จสิ้นการรักษารากฟัน ควรได้รับการบูรณะฟันด้วยเดือยฟันและครอบฟัน เพื่อป้องกันการแตกหักของฟันในภายหลัง รวมถึงการดูแลสุขภาพในช่องปากด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ