การรักษาทางศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเซียล เป็นการศัลยกรรมเนื้อเยื่อในช่องปาก ใบหน้า และกระดูกขากรรไกร เพื่อแก้ไขความผิดปกติ หรือรอยโรคต่างๆ รวมทั้งการปรับแต่งกระดูกขากรรไกรให้เหมาะสมต่อการสบฟัน หรือก่อนการใส่ฟันปลอม

การถอนฟัน เป็นการรักษาทางทันตกรรม ที่ควรจัดเป็นทางเลือกสุดท้ายในการกำจัดภาวะการอักเสบหรือการติดเชื้อของฟัน เพราะการสูญเสียฟันซี่ใดซี่หนึ่ง จะทำให้ฟันซี่ข้างเคียงเคลื่อนไปยังช่องว่าง ส่งผลกระทบต่อการบดเคี้ยว การเรียงตัวของฟัน และการสบฟัน

เหตุผลสำคัญที่จำเป็นต้องรับการรักษาโดยการถอนฟัน มีดังนี้

  1. ภาวะการอักเสบ หรือการติดเชื้อของฟัน ที่เกิดจากฟันผุ ฟันร้าว หรือ อุบัติเหตุ
  2. การติดเชื้อของกระดูกรอบรากฟัน เช่น โรคปริทันต์อักเสบในระยะรุนแรง
  3. ฟันที่ขึ้นซ้อนเก ไม่ได้ใช้ในการบดเคี้ยว ทำให้เศษอาหารติด และทำความสะอาดได้ยาก
  4. ก่อนการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน เพื่อเตรียมพื้นที่ในการเรียงตัวของฟันให้เป็นระเบียบ
  5. ก่อนการใส่ฟันปลอม ในกรณีที่ไม่สามารถบูรณะฟันได้แล้ว

ขั้นตอนการถอนฟัน

  1. ทันตแพทย์ตรวจสภาพฟันและเอ็กซ์เรย์ฟัน เพื่อดูรายละเอียดของฟันซี่นั้นๆก่อนการถอนฟัน
  2. ถอนฟันภายใต้ยาชาเฉพาะที่
  3. กรณีที่ถอนฟันหลายซี่ติดกัน ทันตแพทย์อาจจะพิจารณาเย็บแผลถอนฟันร่วมด้วย ซึ่งกรณีนี้อาจจะต้องได้รับการตัดไหมภายใน 5-10 วัน หลังการถอนฟัน (สำหรับไหมเย็บแผลชนิดไม่ละลาย)
  4. การปฏิบัติตัวตามคำแนะนำในการดูแลตนเองหลังการถอนฟัน

*** การแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติโรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา และยาที่ใช้อยู่ประจำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลตนเองหลังการถอนฟันอย่างเคร่งครัด จะช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น

  1. การรับประทานยาบางชนิด เช่น แอสไพริน ยาละลายลิ่มเลือด มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด อาจทำให้เลือดหยุดช้ากว่าปกติ
  2. โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคมะเร็ง, โรคเลือด, โรคหัวใจ, ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือมีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ, เบาหวาน หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหลายๆโรค กรณีเช่นนี้ ควรได้รับการปรึกษาจากแพทย์ประจำตัวเพื่อเตรียมความพร้อมของสภาพร่างกายก่อนการถอนฟัน
  3. การกัดผ้าก๊อช หลังการถอนฟัน โดยหลีกเลี่ยงการพูดคุย, ถ่มน้ำลาย หรือบ้วนปาก ตลอดระยะเวลาที่ทันตแพทย์กำหนด จะช่วยป้องกันภาวะเลือดไหลไม่หยุดหรือการติดเชื้อภายหลังการถอนฟันได้

การป้องกันการเคลื่อนของฟันไปยังช่องว่างหลังการถอนฟัน

เมื่อมีการถอนฟัน ฟันซี่ข้างเคียงหรือฟันคู่สบมักมีการเคลื่อนไปยังช่องว่าง ทำให้เกิดผลเสีย ดังนี้

  1. ทำให้เกิดช่องห่างระหว่างซี่ฟันในตำแหน่งฟันกราม ทำให้เศษอาหารติดได้ง่ายขึ้น
  2. ทำให้เกิดช่องห่างระหว่างซี่ฟันในตำแหน่งฟันหน้า มีผลต่อความสวยงาม
  3. ทำให้แนวฟันซี่ข้างเคียงล้มเอียง เกิดแรงกระแทกจากการสบฟันในตำแหน่งนั้นมากกว่าปกติ (Traumatic Occlusion)
  4. ทำให้ฟันคู่สบยื่นยาวมากกว่าฟันซี่อื่นๆ เป็นสาเหตุให้เศษอาหารติดระหว่างซี่ฟันได้ง่าย
  5. เมื่อต้องการทำฟันปลอมในภายหลัง ฟันที่ล้มเอียงจะมีผลทำให้ประสิทธิภาพของฟันปลอมลดลง

การฝังรากเทียม เป็นวิทยาการทางทันตกรรมที่ทดแทนการสูญเสียฟันธรรมชาติ โดยฝังวัสดุที่มีรูปร่างคล้ายรากฟันลงบนกระดูกขากรรไกร เพื่อช่วยให้ฟันปลอมภายในช่องปาก ทั้งชนิดถอดได้และชนิดติดแน่นยึดเกาะได้ดี และมีข้อดีที่ช่วยกระจายแรงบดเคี้ยวลงบนกระดูกขากรรไกร เปรียบเสมือนรากฟันธรรมชาติที่ป้องกันไม่ให้มีการละลายตัวของกระดูกขากรรไกรจากการสูญเสียฟันไป

ทันตกรรมรากเทียมประกอบด้วย 3 ส่วนหลักที่สำคัญ คือ

  1. รากเทียม เป็นวัสดุที่ทำจากโลหะไททาเนียม ทำหน้าที่ทดแทนรากฟัน ซึ่งฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร และกระดูกจะสร้างเนื้อเยื่อเข้ามายึดติดกับรากเทียมได้แน่น โดยไม่ทำให้เนื้อเยื่ออักเสบ และไม่เกิดผลข้างเคียงใดๆ ต่อกระดูกโดยรอบ
  2. แกนหลัก เป็นวัสดุที่ใส่ในรากเทียม เพื่อเป็นแกนสำหรับรองรับฟันปลอม ซึ่งมีหลากหลายชนิดขึ้นอยู่กับลักษณะของฟันปลอม
  3. ฟันปลอม เป็นส่วนที่ลอกเลียนรายละเอียดของฟันธรรมชาติ ซึ่งอาจจะเป็นครอบฟัน, สะพานฟัน หรือ ฟันปลอมชนิดถอดได้

ประเภทของทันตกรรมรากเทียม

รากเทียม เป็นวิทยาการที่นำมาใช้ในงานทันตกรรม ได้ 3 รูปแบบ ดังนี้

  1. ทันตกรรมรากเทียม สำหรับงานฟันปลอมชนิดติดแน่น เช่น ครอบฟัน, สะพานฟัน ใช้ระยะเวลา 3-6 เดือน
  2. ทันตกรรมรากเทียม สำหรับงานฟันปลอมชนิดถอดได้ เช่น ฟันปลอมอะคลิริค, ฟันปลอมโครงโลหะ ใช้ระยะเวลา 3-6 เดือน
  3. ทันตกรรมรากเทียมสำหรับใช้งานได้ทันที เหมาะสำหรับการทำฟันปลอมเพียง 1 ซี่ ในตำแหน่งที่ไม่ได้รับแรงในการบดเคี้ยว ใช้เวลาเพียง 1 วัน-3 สัปดาห์

ขั้นตอนการทำรากเทียม

  1. ทันตแพทย์สอบถามถึงประวัติโรคประจำตัวและพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เนื่องจากโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน, โรคทางกระดูกบางอย่าง, การฉายรังสีรักษาบริเวณใบหน้า หรือการสูบบุหรี่ อาจส่งผลเสียต่อการยึดติดของรากเทียม
  2. ทันตแพทย์ตรวจสุขภาพช่องปาก และบันทึกภาพถ่ายรังสี เพื่อประเมินถึงการดูแลสุขภาพช่องปากของคนไข้ และประเมินความหนาของกระดูกที่รองรับรากเทียม
  3. การผ่าตัดฝังรากเทียมลงในกระดูกขากรรไกร ภายใต้ยาชาเฉพาะที่ โดยใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้น รอให้มีการสร้างเนื้อเยื่อกระดูกยึดติดกับรากเทียม ประมาณ 3-6 เดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของกระดูกขากรรไกร
  4. เมื่อมีการยึดแน่นของรากเทียม ทันตแพทย์จะต่อส่วนแกนหลักเข้ากับรากเทียม และรอให้เหงือกบริเวณรอบแกนหลักปรับสภาพเนื้อเยื่อ ประมาณ 1-2 สัปดาห์
  5. ทันตแพทย์พิมพ์ปากเพื่อทำฟันปลอม ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 1-3 สัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับชนิดของฟันปลอม)
  6. ทันตแพทย์ยึดหรือสวมใส่ฟันปลอมลงบนแกนหลัก และแนะนำวิธีการดูแลทำความสะอาด

ข้อควรปฏิบัติและการดูแลหลังการฝังรากเทียม

  1. ภายใน 1 สัปดาห์แรก หลังการผ่าตัด ควรรับประทานอาหารอ่อน และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  2. อาจมีอาการเจ็บหรือบวมบริเวณที่ทำการผ่าตัด ภายใน 1 สัปดาห์แรก ซึ่งท่านสามารถหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวได้โดย
    • ประคบเย็นในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด
    • ประคบอุ่นหลังการผ่าตัด 48 ชั่วโมง
    • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ หลังการแปรงฟันทุกครั้ง
    • รับประทานยาตามที่ทันตแพทย์แนะนำ
  3. หลีกเลี่ยงการกัดเคี้ยวอาหารในตำแหน่งที่ฝังรากเทียม ภายใน 3 เดือนแรก เพื่อป้องกันแรงกระแทก ที่อาจจะมีผลต่อการสร้างเนื้อเยื่อติดกับรากเทียม
  4. ควรทำความสะอาด โดยการแปรงฟันหลังมื้ออาหารทุกครั้ง โดยเน้นในตำแหน่งที่ทำการฝังรากเทียมด้วยแปรงขนนุ่ม และใช้ไหมขัดฟันได้ตามปกติเหมือนฟันธรรมชาติ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  5. ควรหลีกเลี่ยง การรับประทานอาหารที่มีความแข็ง และเหนียวมากเกินไป
  6. ควรตรวจสุขภาพฟันโดยทันตแพทย์ทุก 6 เดือน

การผ่าตัดเพื่อเอาฟันคุดออก มีวัตถุประสงค์ เพื่อป้องกันหรือรักษาภาวะแทรกซ้อนของฟันคุด โดยมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด ดังนี้

  1. ภาวะการอักเสบ หรือการติดเชื้อจากฟันคุด
  2. ฟันคุดที่ขึ้นบางส่วน ทำให้เศษอาหารติดและทำความสะอาดได้ยาก
  3. ฟันคุดที่ขัดขวางการขึ้นของฟันซี่อื่นๆ
  4. ฟันคุดที่มีแรงดันทำให้ฟันหน้าเรียงไม่เป็นระเบียบ เกิดอาการปวด หรือการละลายของรากฟันข้างเคียง
  5. ก่อนการรักษาทางทันตกรรมจัดฟัน เพื่อป้องกันการเคลื่อนของฟันคุด ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการเรียงตัวของฟันซี่อื่นๆ
  6. การใส่ฟันปลอมเหนือตำแหน่งกระดูกที่มีฟันคุดอยู่
  7. การป้องกันการเกิดพยาธิสภาพบริเวณฟันคุด เช่น เนื้องอก ถุงน้ำ
  8. ท่านที่จะรับการฉายรังสีรักษา ควรผ่าฟันคุดออกก่อนการฉายรังสีรักษา

ขั้นตอนการผ่าฟันคุด

  1. ทันตแพทย์ตรวจสภาพฟันและเอ็กซ์เรย์ฟัน เพื่อดูรายละเอียดของฟันซี่นั้นๆก่อนการผ่าตัด
  2. ผ่าตัดภายใต้ยาชาเฉพาะที่
  3. กรณีที่ฟันคุดฝังอยู่ใต้กระดูกบางส่วนหรืออยู่ในแนวเอียง จำเป็นต้องได้รับการตัดแต่งกระดูกและตัดแบ่งฟันคุดออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้ชิ้นส่วนของฟันคุดอยู่ในทิศทางที่สามารถนำออกมาจากเบ้าฟันได้
  4. การเย็บแผลผ่าตัด ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตัดไหมภายใน 5-10 วันหลังการผ่าตัด ในกรณีที่ใช้ไหมเย็บแผลชนิดไม่ละลาย
  5. การปฏิบัติตัวตามคำแนะนำในการดูแลตนเองหลังการผ่าตัด

*** การแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติโรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา และยาที่ใช้อยู่ประจำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลตนเองหลังการผ่าตัดอย่างเคร่งครัด จะช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น

  1. การรับประทานยาบางชนิด เช่น แอสไพริน ยาละลายลิ่มเลือด มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดอาจทำให้เลือดหยุดช้ากว่าปกติ
  2. โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคมะเร็ง, โรคเลือด, โรคหัวใจ, ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือมีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ, เบาหวาน หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหลายๆโรค กรณีเช่นนี้ ควรได้รับการปรึกษาจากแพทย์ประจำตัวเพื่อเตรียมความพร้อมของสภาพร่างกายก่อนการผ่าตัด
  3. การกัดผ้าก๊อชหลังผ่าตัด โดยหลีกเลี่ยงการพูดคุย, ถ่มน้ำลายหรือบ้วนปาก ตลอดระยะเวลาที่ทันตแพทย์กำหนด จะช่วยป้องกันภาวะเลือดไหลไม่หยุด หรือการติดเชื้อภายหลังการผ่าตัดได้
  4. การประคบเย็นบริเวณข้างแก้มภายนอกช่องปากอย่างสม่ำเสมอตลอด 3 ชั่วโมงแรก จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะบวมหลังการผ่าตัด

การจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร จะเลือกทำในกรณีที่มีการสบฟันผิดปกติร่วมกับมีความผิดปกติของกระดูกขากรรไกรมาก เช่น

  • ฟันหน้าบนยื่นมาก
  • คางเล็ก
  • คางยื่น
  • ยิ้มเห็นเหงือกมาก
  • หากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นตุ่มเล็กๆ ก้อนนูนๆ ถุงน้ำ หรือรอยฝ้าขาว ควรได้รับการตรวจโดยทันตแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมช่องปาก เพื่อวินิจฉัยรอยโรคตั้งแต่เนิ่นๆ หากรอยโรคบางชนิดไม่สามารถวินิจฉัยได้ด้วยตาเปล่า ทันตแพทย์อาจจะพิจารณาส่งตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) เพื่อให้ได้ผลการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
  • ถุงน้ำและเนื้องอกที่เกิดขึ้นในช่องปาก มีหลากหลายชนิด ทั้งที่เป็นเนื้อร้าย และไม่ใช่เนื้อร้าย หากทันตแพทย์ตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ และวินิจฉัยได้ชัดเจน การรักษาจะไม่ยุ่งยาก บางชนิดสามารถทำการผ่าตัดภายใต้ยาชาเฉพาะที่ และดูแลแผลเหมือนกับการผ่าตัดในช่องปากโดยทั่วไป แต่รอยโรคบางชนิดอาจจำเป็นต้องผ่าตัดภายใต้ยาสลบ หรือให้การรักษาอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย
  • ดังนั้น เมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อในช่องปาก จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ รวมทั้งการพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือน ก็จะช่วยคัดกรองความผิดปกติเหล่านี้ และวินิจฉัยในเบื้องต้นได้

การผ่าตัดตกแต่งสันเหงือก เป็นการผ่าตัดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยใช้ฟันปลอมบดเคี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้ง การแก้ปัญหาพูดไม่ชัดจากเนื้อเยื้อที่ขัดขวางการเคลื่อนของลิ้น และการแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับความสวยงามของระดับเหงือก ดังนี้

  1. การตกแต่งกระดูกสันเหงือก (Alveoloplasty) เป็นการตกแต่งกระดูกสันเหงือกที่โป่งนูน ยื่นยาว หรือแหลมคม ให้มีรูปร่างที่เหมาะสมสำหรับรองรับฟันปลอม เพื่อให้ฟันปลอมรับน้ำหนักในการบดเคี้ยว และกระจายน้ำหนักลงบนสันเหงือกได้ดีป้องกันการกดเจ็บจากน้ำหนักในการบดเคี้ยวลงบนกระดูกที่มีสภาพไม่เหมาะสม
  2. การตัดปุ่มกระดูก (Torectomy /Reduction of Exostosis) เป็นการตัดปุ่มกระดูกที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ซึ่งเนื้อเยื่อที่ปกคลุมกระดูกเหล่านี้ มักจะเป็นแผลได้ง่ายเนื่องจากเนื้อเยื่อเหงือกที่ปกคลุมมักจะบางกว่าปกติ
  3. การผ่าตัดเนื้อเยื่อยึดสันเหงือกกับริมฝีปาก แก้ม หรือลิ้น (Frenectomy) เพื่อปรับแต่งตำแหน่งยึดเกาะของเนื้อเยื่อยึด ไม่ให้ขัดขวางการเคลื่อนไหวของริมฝีปาก แก้ม หรือลิ้น ที่อาจส่งผลเสียต่อการพูด การร่นของขอบเหงือก การเกิดช่องว่างของฟันหน้า และกีดขวางต่อการใส่ฟันปลอม
  4. การผ่าตัดยกระดับสันเหงือก (Vestibuloplasty) เป็นการผ่าตัดที่ทำให้ร่องระหว่างสันเหงือกและแก้ม (Vestibule) ลึกมากขึ้น เพื่อให้สันเหงือกมีความสูงมากขึ้น เหมาะสมต่อการรองรับฟันปลอมได้ดีขึ้น
  5. การผ่าตัดร่นระดับขอบเหงือก (Gingivectomy) เป็นการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแปลงระดับขอบเหงือกให้สูงขึ้น อาจจะทำเพื่อความสวยงาม ให้ฟันดูยาวขึ้น หรือเป็นการตัดแต่งเหงือกส่วนเกินที่ปิดคลุมในตำแหน่งรอยผุ เพื่อให้ทันตแพทย์สามารถกำจัดรอยผุได้สะอาดก่อนการอุดฟัน
  6. การผ่าตัดร่นระดับขอบเหงือก และกระดูกหุ้มฟัน (Crown Lengthening) เป็นการผ่าตัดเหงือก และกรอแต่งกระดูก เพื่อเพิ่มความยาวของซี่ฟัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสวยงาม หรือเพิ่มความยาวของซี่ฟันให้เหมาะสมต่อการยึดของครอบฟัน รวมทั้ง การร่นระดับกระดูกและขอบเหงือกในตำแหน่งที่มีรอยผุลุกลามลงใต้เหงือกค่อนข้างมาก เพื่อให้ทันตแพทย์สามารถกำจัดรอยผุได้สะอาดก่อนการอุดฟัน

การศัลยกรรมเพื่อปลูกกระดูกขากรรไกร เป็นวิทยาการทางทันตกรรม ที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการบดเคี้ยว รวมทั้งเสริมบุคลิกภาพของผู้ป่วย ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการสูญเสียกระดูกที่รองรับฟัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อทดแทนแนวสันกระดูกขากรรไกรที่เสื่อมลง หรือสูญเสียรูปร่างจากการถอนฟันแล้วทิ้งช่วงเวลาไว้นานและไม่ได้ใส่รากเทียมทดแทน โดยมากมักจะพิจารณาทำก่อนการฝังรากเทียม หรือก่อนการใส่ฟันปลอมชนิดอื่นๆ

วัสดุที่ใช้ในการปลูกกระดูก

  1. Autogenous Bone Graft เป็นการใช้กระดูกของผู้ป่วยเอง เช่น กระดูกขากรรไกรล่าง, กระดูกสะโพก ทันตแพทย์จะเลือกใช้วิธีนี้ในกรณีที่ต้องทดแทนกระดูกเป็นบริเวณกว้าง และมักจะต้องใช้วัสดุชนิดอื่นร่วมด้วย เนื่องจากกระดูกของผู้ป่วยมักจะเกิดการเสื่อมสลายได้ง่ายกว่าวัสดุชนิดอื่น
  2. Allogenic Bone Graft เป็นการใช้กระดูกมนุษย์ที่ผ่านการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง (Freeze Drying) ทันตแพทย์มักจะเลือกใช้วัสดุชนิดนี้ในการปลูกกระดูกขากรรไกร เนื่องจากนำมาใช้ได้ง่าย และมีประสิทธิภาพที่ดี อัตราการเสื่อมสลายของกระดูกค่อนข้างต่ำ
  3. Xenogenic Bone Graft เป็นการใช้กระดูกวัวที่ผ่านการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง (Freeze Drying) วัสดุชนิดนี้ก็เป็นทางเลือกที่นิยมเช่นกัน เนื่องจาก ประสิทธิภาพที่ได้ และอัตราการเสื่อมสลายของกระดูกใกล้เคียงกับ Allogenic Bone Graft
  4. Alloplastic Bone Graft เป็นกระดูกสังเคราะห์จาก Hydroxyapatite แต่มักจะไม่เป็นที่นิยมใช้ เนื่องจาก ประสิทธิภาพที่ได้และอัตราการเสื่อมสลายสูงกว่า Allogenic และ Xenogenic Bone Graft

ขั้นตอนการปลูกกระดูก

  1. ทันตแพทย์ตรวจสภาพกระดูกขากรรไกร และเอ็กซ์เรย์ชนิดพาโนรามิค เพื่อประเมินความหนาและความกว้างของกระดูก
  2. ผ่าตัดภายใต้ยาชาเฉพาะที่ (ยกเว้นกรณีที่จำเป็นต้องใช้กระดูกสะโพก จะต้องทำการผ่าตัดภายใต้ยาสลบ)
  3. การเย็บแผลผ่าตัด โดยจะได้รับการตัดไหมภายใน 7-14 วันหลังการผ่าตัด ในกรณีที่ใช้ไหมเย็บแผลชนิดไม่ละลาย
  4. การปฏิบัติตัวตามคำแนะนำในการดูแลตนเองหลังการผ่าตัด

*** การแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติโรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา และยาที่ใช้อยู่ประจำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลตนเองหลังการผ่าตัดอย่างเคร่งครัด จะช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น

  • การรับประทานยาบางชนิด เช่น แอสไพริน ยาละลายลิ่มเลือด มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด อาจทำให้เลือดหยุดช้ากว่าปกติ
  • โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคมะเร็ง, โรคเลือด, โรคหัวใจ, ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือมีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ, เบาหวาน หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหลายๆโรค กรณีเช่นนี้ ควรได้รับการปรึกษาจากแพทย์ประจำตัว เพื่อเตรียมความพร้อมของสภาพร่างกายก่อนการผ่าตัด
  • การกัดผ้าก๊อซ หลังผ่าตัด โดยหลีกเลี่ยงการพูดคุย, ถ่มน้ำลาย หรือบ้วนปาก ตลอดระยะเวลาที่ทันตแพทย์กำหนด จะช่วยป้องกันภาวะเลือดไหลไม่หยุดหรือการติดเชื้อภายหลังการผ่าตัดได้
  • การประคบเย็นบริเวณข้างแก้มภายนอกช่องปากอย่างสม่ำเสมอตลอด 3 ชั่วโมงแรก จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะบวมหลังการผ่าตัด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ การใช้งานเว็บไซต์ของเราแสดงว่าคุณยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว และการใช้คุกกี้ของเรา

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า