ปริทันตวิทยาเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับทันตกรรมในการรักษาโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์
เนื้อเยื่อปริทันต์เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มรากฟัน ประกอบด้วย
เหงือกเป็นอวัยวะที่ห่อหุ้มและปกป้องกระดูกและฟัน โดยมีเอ็นยึดปริทันต์ยึดรากฟันไว้กับกระดูก
ขอบเหงือกรอบคอฟันมีลักษณะบางเรียบ สีชมพูอ่อน ไม่มีเอ็นยึดผิวฟัน แต่มีร่องระหว่างเหงือกกับฟันลึกประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เหงือกบริเวณนี้เรียกว่า Free Gingiva
เหงือกส่วนล่างรอบคอฟันประมาณ 3 มิลลิเมตร ยึดกระดูกเรียกว่า เหงือกแนบ มีลักษณะค่อนข้างหยาบและแข็งกว่าเหงือกอิสระ
กระดูกเบ้าฟัน เป็นส่วนที่ห่อหุ้มรากฟันโดยมีเอ็นยึดปริทันต์ (Periodontal Fiber) ทำหน้าที่ยึดฟันไว้กับกระดูก
โรคเหงือกอักเสบเกิดจากการไม่ดูแลสุขภาพช่องปากอย่างทั่วถึง มีคราบแบคทีเรียตกค้างบริเวณคอฟันและขอบเหงือกนานกว่าหนึ่งสัปดาห์ มีการแพร่กระจายของแบคทีเรียเข้าไปบริเวณใต้เหงือก และเกิดตะกอนคาร์บอเนตในน้ำลายบนคราบแบคทีเรีย ก่อตัวเป็นคราบหินปูน ในระยะนี้เหงือกจะบวมแดง เหงือกมีเลือดออกตามมาและเริ่มมีกลิ่นปาก
หากละเลยการดูแลสุขภาพช่องปากเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะทำให้เกิดการสะสมของคราบแบคทีเรียและคราบหินปูนเพิ่มมากขึ้น แบคทีเรียจำนวนมากจะปล่อยสารพิษออกมาทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เหงือกอักเสบ บวม ทำลายกระดูกเบ้าตาและเอ็นยึดปริทันต์เกิดเป็นช่องปริทันต์ลึกเปรียบเสมือนถุงเก็บสะสมแบคทีเรีย
เมื่อแบคทีเรียเติบโตในร่องเหงือกลึกมากขึ้น จะทำให้เกิดหนอง มีกลิ่นปากรุนแรงขึ้น ฟันหลุด ปวดเมื่อเคี้ยว และถ้าอาการรุนแรงอาจต้องถอนฟันในที่สุด
การรักษาโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์จะประสบความสำเร็จได้นั้นขึ้นอยู่กับกระบวนการรักษาทางทันตกรรมของทันตแพทย์และความร่วมมือในการดูแลทำความสะอาดดูแลสุขภาพช่องปากของผู้ป่วย เพราะสาเหตุของโรคส่วนใหญ่มาจากคราบแบคทีเรียและคราบหินปูน
ขั้นตอนการรักษาทางทันตกรรมของทันตแพทย์
- ขจัดคราบพลัคด้วยเครื่อง Ultrasonic Cleanser กระบวนการนี้เรียกว่าการขูดหินปูน
- ในกรณีที่มีหินปูนลึกลงในร่องเหงือกเกินกว่า 3mm. ทันตแพทย์จะกำจัดหินปูนด้วยเครื่องมือเกลารากฟัน เพื่อทำให้ผิวรากฟันเรียบและสะอาด ขั้นตอนนี้เรียกว่า การเกลารากฟัน
- ในกรณีที่หินปูนอยู่ในตำแหน่งลึกเกินกว่าเครื่องมือจะเข้าไปทำความสะอาดได้ เช่น บริเวณรอยแยกระหว่างรากฟัน กรณีนี้จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดซึ่งเรียกว่า ศัลย์ปริทันต์
- ในกรณีที่มีการลุกลามของรอยโรคมาก มีการทำลายเหงือกหรือกระดูกค่อนข้างมาก อาจจะพิจารณาปลูกเหงือกหรือปลูกกระดูกร่วมด้วย
นอกเหนือจากขั้นตอนการรักษาของทันตแพทย์แล้ว การดูแลความสะอาดในช่องปากของผู้รับการรักษาก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากต่อความสำเร็จในการรักษา เพราะทุกครั้งที่รับประทานอาหาร จะมีการก่อตัวของแผ่นคราบจุลินทรีย์ขึ้นทันที หากไม่สามารถทำความสะอาดในช่องปากได้อย่างทั่วถึง เชื้อจุลินทรีย์จะผลิตเอนไซน์ทำลายเนื้อเยื่อเหงือกและเนื้อเยื่อปริทันต์อย่างสม่ำเสมอเช่นกัน